วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาการรับรู้ในบริการการแพทย์ฉุกเฉิน


ชื่อเรื่อง :
การศึกษาการรับรู้ในบริการการแพทย์ฉุกเฉินและความเข้าใจของประชาชนต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในอำเภอด่านซ้าย
ชื่อผู้วิจัย : นางพรพิไล นิยมถิ่น
หน่วยงาน: งานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย
ที่มา  :ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นการจัดระบบบริการให้มีการระดมทรัพยากรในพื้นที่ ให้สามารถช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ได้มีโอกาสขอความช่วยเหลือในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ณ. จุดเกิดเหตุ ให้มีระบบการลำเลียงขนย้าย และการส่งผู้ป่วยให้แก่โรงพยาบาลที่เหมาะสม ได้อย่างมีคุณภาพและรอดชีวิต ตลอด 24 ชั่วโมง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง รับผิดชอบประชากร ประมาณ 50,000 คน มีภูมิประเทศ  เป็นภูเขาสลับซับซ้อน หน่วยงานอุบัติเหตุฉุกเฉินเริ่มมีการจัดระบบบริการออกให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นหน่วยกู้ชีพขั้นสูง ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2549 ได้มีการขยายเครือข่ายหน่วยกู้ชีพลงสู่ท้องถิ่น และมีอาสาสมัคร จำนวน 14 หน่วย มีอาสาสมัครกู้ชีพผ่านการอบรมหลักสูตร First responder ครอบคลุมพื้นที่ จำนวน 140 คน เมื่อศึกษาพบว่าผู้ป่วยฉุกเฉินยังเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้น้อย มีญาตินำส่งเอง หรือต้องรอให้เกิดภาวะวิกฤติถึงชีวิตถึงต้องรีบหารถนำส่งโรงพยาบาล เมื่อศึกษาถึงช่องทางการช่วยเหลือที่ผู้รับบริการเรียกใช้บริการผ่านศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการหมายเลขโทรศัพท์ 1669 เพียงร้อยละ 25.57  หมายเลขสายตรงห้องฉุกเฉิน ร้อยละ 14.20 สะท้อนให้เห็นถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินยังเข้าถึงไม่คลอบคลุมพื้นที่
วัตถุประสงค์  :
1.เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกใช้การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
2.เพื่อศึกษาถึงการรับรู้ในบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ของประชาชนชาวอำเภอด่านซ้าย
3.เพื่อศึกษาถึงความเข้าใจของประชาชนต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์
วิธีดำเนินการ: จากข้อมูลประมวลสรุปผลงานประจำปี ศึกษาเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติม ด้วยวิธีตอบแบบสอบถาม ข้อมูลทั่วไปของผู้ที่ให้ข้อมูลในจำนวน 100 คนทั่วทุกตำบลในอำเภอด่านซ้าย จากผู้นำชุมชน ร้อยละ50 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 50เ ป็นชายร้อยละ78 เป็นหญิงร้อยละ 22 เป็นกลุ่มวัยทำงานอายุ 40-50 ปี มากที่สุด วุฒิการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 67 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ22 มัธยมศึกษาตอนปลาย  ร้อยละ 9
ผลการศึกษาการ รับรู้บริการการแพทย์ฉุกเฉินมากกว่าร้อยละ60 รับรู้หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน ร้อยละ 68 รับรู้ว่าไม่เสียค่าใช้จ่าย ร้อยละ82  บริการฉุกเฉินให้บริการได้ทุกพื้นที่ ร้อยละ 58   รับรู้บริการช่วยเหลือเบื้องต้นขณะนำส่ง ร้อยละ 92  ความเข้าใจในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ มีความเข้าใจภาวะฉุกเฉินมากร้อยละ75  ต้องการเรียกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ร้อยละ38  ต้องการนำส่งเอง ร้อยละ62 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตัวแปรที่ศึกษา กลุ่มผู้นำชุมชนจะรับรู้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และเข้าใจเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์มากกว่าประชาชนทั่วไป พื้นที่ที่มีหน่วยกู้ชีพที่เข้มแข็งปฏิบัติงานได้ต่อเนื่องเช่น ตำบลโป่ง ตำบลนาดี ตำบลด่านซ้าย  จะมีการรับรู้ในบริการการแพทย์ฉุกเฉินมากกว่าร้อยละ 60  พื้นที่ที่มีผลการปฏิบัติงานน้อย หน่วยกู้ชีพอยู่พื้นที่ห่างไกลมาก  จะมีการรับรู้ต่อบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้น้อยกว่าร้อยละ20
การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในงานประจำ  :
1.เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในอำเภอด่านซ้าย
2.นำข้อมูลไปพัฒนาวางแผนการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนในการเรียกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน
 3.พัฒนาหน่วยกู้ชีพให้มีการปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ผู้ยากไร้และมีความเสี่ยง
บทเรียนที่ได้รับ : ผู้ป่วยฉุกเฉินมาโดยระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพิ่มขึ้น ปี 2554  ผู้ป่วยสีแดงมาโดยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ร้อยละ20.22   ปี 2555 ร้อยละ 24.15  ปี2556 (มิถุนายน) ร้อยละ27.22จากผลการปฏิบัติงานของหน่วยกู้ชีพทั้งเครือข่ายเป็นผู้ป่วยสีแดง ปี2554  ร้อยละ 34.14  ปี 2555 ร้อยละ 34.23 ปี 2556 (มิถุนายน) ร้อยละ 41.47 มีการประสานงานในเครือข่ายของหน่วยกู้ชีพท้องถิ่น อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆเป็นอย่างดี ประชาชนรู้จักและเรียกใช้หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 1669 ร้อยละ 42.45 หมายเลขสายตรงห้องฉุกเฉิน ร้อยละ37.47
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ  :
- ผู้บริหารให้ความสำคัญ
-ความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
-ทีมกู้ชีพที่เข้มแข็ง
-อปท.ร่วมจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ครอบคลุมพื้นที่
การสนับสนุนที่ได้รับจากผู้บริหารหน่วยงาน/องค์กร:
-ผู้บริหารสนับสนุนหลายรูปแบบ
-ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วม สนับสนุนงบประมาณสร้างความเข้มแข็งให้ทีมกู้ชีพในท้องถิ่น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น